อะไรทำให้เด็ก Sport Science ได้มาทำงานที่ Fintech Startup มูลค่า Asset under advisement 5,500 ล้าน

Sakkapol Tungsongpaiboolya
Finnomena
Published in
3 min readDec 1, 2018

--

[Based on true stroy]
[ได้ขออนุญาตเจ้าของเรื่อง/ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้แล้ว]

ก่อนจะเริ่มเรื่องนี้ หลายคนคงมีคำถามง่าย ๆ ว่า แล้วพนักงานใหม่ที่ผมรับเข้ามาทำใน Fintech Startup แห่งนี้ มันคือตำแหน่งอะไรล่ะ ถ้าเป็นตำแหน่งง่าย ๆ หรือเป็นตำแหน่งที่เรียนจบอะไรก็ได้ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจอะไรใช่หรือเปล่า…

ใช่ครับ! มันเป็นตำแหน่งงานที่ไม่เกี่ยวกับทางด้าน Tech หรือต้องมีความรู้มานั่งเขียนโค้ดอะไรเลย เพราะผมกำลังหาคนมาช่วยผม “จัดงานอีเว้นท์” (Event & Activity)

โธ่! ถ้าอย่างนั้นมันก็ง่ายสิ คนที่จบสาขา Sport Science ก็ฟังดูเริ่มจะเข้าเค้าแล้วนี่นา แต่ผมต้องบอกเลยว่า ใบสมัครของเด็ก Sport Science คนนี้ แทบจะถูกปล่อยผ่านในแว้บแรกที่ผมเห็นเลยทีเดียว

จริง ๆ แล้วผมอยากชวนทำความเข้าใจก่อนว่า Startup ที่ทำธุรกิจทางด้าน Fintech เกี่ยวกับเรื่องการลงทุน มันจำเป็นต้องมีคนมาจัดอีเว้นท์จริง ๆ จัง ๆ กับเขาด้วยหรือ?ไหน ๆ ก็ชื่อว่าเป็น Fintech เราน่าจะ scale ทางออนไลน์ได้นี่! ตรงกันข้ามครับ ยิ่งเราทำงานใน Tech Company เรายิ่งต้องมีตัวช่วยอย่างเช่น Data driven ที่จะมาช่วยในการกำหนดกลยุทธ์ และคำตอบจากการใช้ Data ในวันนั้นทำให้เราค้นพบว่า “เราต้องมีคนมาช่วยจัดงานอีเว้นท์อย่างจริง ๆ จังๆ ซะที”

อย่างที่ผมเคยเกริ่นไปในบทความก่อนหน้านี้เรื่อง “องค์ประกอบของทีม Marketing ใน Tech Startup” เมื่อผมได้รับมอบหมายให้หาส่วนผสมของทีมการตลาด ผมจำเป็นต้องจ้างคนมาช่วยงาน และที่สำคัญ “ผมทำคนเดียวไม่ได้แน่ ๆ” [ซึ่งนั่นคือเรื่องจริง!] ผมจึงได้เจรจากับ CEO และได้รับสิทธิ์ในการตามหา Talent ที่จะมาช่วยผมจัดอีเว้นท์ที่คูลๆ ในแบบฉบับ Fintech Startup กันแล้ว

ผมเริ่มประกาศรับสมัครตำแหน่งงานนี้พร้อมกับตำแหน่งอื่น ๆ ของบริษัท เรียกได้ว่าเป็นช่วงท็อปฟอร์มของการ Recruitment ของทุก ๆ ทีมเลยก็ว่าได้ (ทำไมถึงเรียกว่า ท็อปฟอร์มน่ะเหรอ? — ก็เพราะช่วงนั้นเรายังไม่มีแม้กระทั่งฝ่ายบุคคลของเราเองเลย ดังนั้น ทีมใคร คนนั้นก็ต้อง Recruit กันเอาเอง คัดเลือกกันสนุกเลย แต่สุดท้ายก็ต้องผ่านด่าน Co-founder หรือ CEO อยู่ดี) ในส่วนตัวของตำแหน่งคนที่จะมาทำอีเว้นท์นั้นอยู่ในทีมการตลาด ผมจึงได้รับใบสมัครที่หลากหลาย ทั้งแบบที่ผมติดต่อไปเองเพราะสนใจในประสบการณ์ หรือบางคนก็เรียกได้ว่าอยู่ในสายงานตรงที่ผมอยากได้เลย

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการคัดเลือกใบสมัครพนักงานใหม่ด้วยตัวเอง ทำให้รู้ว่า ทักษะทางด้านการค้นหา Talent ที่เหมาะที่ใช่กับองค์กร เป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝน อย่างน้อย ๆ ถ้าคุณอยากเก่ง คุณก็ต้องเก็บชั่วโมงบินให้ได้เยอะ ๆ เพราะประสบการณ์ที่มากพอ จะช่วยให้คุณเห็นคนที่หลากหลาย และอ่านคนได้เฉียบขาดมากยิ่งขึ้น”

กลับมาที่การคัดเลือกใบสมัคร ด้วยการตั้งชื่อตำแหน่งงานของผมที่ไม่ได้ระบุว่าผมต้องการคนทำงาน level ไหน เช่น เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือเป็นระดับผู้จัดการ ทำให้ผมได้รับใบสมัครที่หลากหลายจริง ๆ ถึงแม้มันจะดูไม่เป็นมืออาชีพในแบบที่ฝ่ายบุคคลควรทำก็ตามที แต่นั่นคือโอกาสที่ทำให้ผมได้เจอคนที่ใช่

ใบสมัครของ Candidate ที่ใช่ ถูกผมมองผ่านไปหลายรอบมาก เพราะช่วงนั้นผมมุ่งเป้าหาคนที่เคยทำแต่อีเว้นท์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เช่น งาน Money Expo หรือ SET in the City ประกอบกับรูปโปรไฟล์ที่ดูเนิร์ด ๆ (น่าจะเป็นเด็กเรียน กลัวมาแล้วจะขรึมๆ) หรือโปรไฟล์ที่บอกว่าเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sport Science) เคยมีประสบการณ์การทำงานมาบ้างเกี่ยวกับผู้ช่วยโค้ชนักกีฬา อ่านมาทั้งหมดนี้ ผมแทบจะลบไฟล์ใบสมัครนี้ทิ้ง จนผมหยุดความคิดกับสิ่งที่คิดว่าคน ๆ นี้ไม่น่าใช่คนที่ตามหา แล้วมาทบทวนว่าผมเขียนอะไรลงไปในรายละเอียดของคุณสมบัติที่ต้องการบ้าง

  1. ผมต้องการคนมาทำอีเว้นท์ (อันนี้ค่อนข้างชัดเจน)
  2. ถ้าคนนี้ถ่ายรูปเป็น ถ่ายวีดีโอเป็นก็จะดี เพราะบางงานอีเว้นท์ก็จะได้ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอเองได้เลย ไม่ต้องจ้างคนนอก (ก็เรา Startup นี่นา อะไรทำได้ก็ทำเอง ^^)
  3. ถ้าคนนี้ทำกราฟฟิคเป็นก็จะดี เวลาโปรโมทงานอะไรก็จะได้ทำโปสเตอร์เองได้เลย จบในคนเดียว (ถ้าทำได้แบบนี้ ที่ไหนก็ต้องการตัว)
  4. ที่สำคัญ ผมระบุด้วยว่า “หากเคยทำกิจกรรมนักศึกษาจะพิจารณาเป็นพิเศษ และผมก็ยินดีรับเด็กจบใหม่ด้วย” ข้อนี้พูดง่าย ๆ เลยว่าเอาประสบการณ์ตัวเองมาเป็นตัวตัดสินล้วน ๆ เพราะจากที่เคยทำกิจกรรมนักศึกษามาตลอด 4 ปี ผมเชื่อว่าคนที่เคยผ่านงานด้านนี้มา ถึงแม้จะไม่เคยทำงานบริษัทที่ไหนมาก่อน คุณก็สามารถเป็นนักจัดอีเว้นท์ของ Fintech Startup ที่ดีได้

จากที่กล่าวมาทั้งหมด แล้วผมเห็นอะไรในใบสมัครใบนี้ล่ะ อย่างแรกเลยที่ผมสะดุดตาก็คือ ทำไมเด็ก Sport Science คนนี้ถึงทำ Resume สมัครงานด้วยไฟล์ AI ล่ะ น่าจะต้องทำ AI ได้แน่ ๆ (อย่างน้อยก็เป็นการพิสูจน์ทักษะที่ระบุมาว่าทำกราฟฟิคได้) แถมที่ทำให้ผมต้องเรียกมาสัมภาษณ์ก็เพราะว่า “เคยจัดแข่งขัน U-League E-Sport มาก่อน” แทบจะเป็น co-founder ของอีเว้นท์นี้เลยก็ว่าได้ ผมเลยคิดในใจ ถ้าคนแบบนี้มาทำงาน ก็ต้องเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้แน่ ๆ เพราะช่วงนั้นทีมงานหลายคนติด ROV กันกระจาย (เรียกได้ว่าถ้าผมรับเข้ามา แทบไม่ต้องละลายพฤติกรรมเลย น่าจะเข้ากับทีมงานได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องเกม)

ผมเรียกสัมภาษณ์ พร้อมเปิดใจให้กว้าง พร้อมกับคิดถึงคำพูดของ CEO ว่าเราสามารถรับเด็ก ๆ ที่เพิ่งจบใหม่ มีหลาย ๆ คนที่มีพรสวรรค์ทางด้านแบบนี้ และเราสามารถปั้นเขาได้ ผมจึงเรียกผู้สมัครที่จบ Sport Science คนนี้มาสัมภาษณ์ และหัวข้อสนทนาที่เราคุยกันและน่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้สมัครรายนี้อยู่ใน spotlight ก็คงเป็นเรื่องประสบการณ์ในการจัดการแข่งขัน U-League e-sport เราพูดคุยกันทั้งเรื่องแนวทางการเตรียมงาน ปัญหาอุปสรรคที่พบ แนวทางแก้ไขปัญหา และสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเด็กที่ทำกิจกรรมมักจะมีความคิดคล้าย ๆ กันหลังจากจบงานที่เราได้มีส่วนลงมือทำอย่างจริงจัง “ผมชอบภาพหลังจบงานครับพี่ มันเป็นภาพที่สวยงามและประทับใจมาก” ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้กล่าวปิดท้ายการสนทนา

ก่อนจบการสัมภาษณ์นั้น ผมก็ได้พยายามสรุปข้อมูลทางฝั่งผมบ้างว่าเราเป็นใคร และกำลังทำอะไรอยู่ เมื่อผมบอกว่าเราเป็นฟินเทค (Fintech) นะ บริษัทเราทำอะไรบ้าง บลา บลา ๆ และนี่คือคำพูดทิ้งท้ายของผู้ถูกสัมภาษณ์

ผมไม่รู้จักว่า “ฟินเทค” คืออะไรเลยครับพี่

…หลังจากอธิบายความหมายของฟินเทคไป…

สรุปว่า เด็กที่จบสาย Sport Science อย่างผมไม่รู้เรื่อง Finance แน่ ๆ ครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องเทคโนโลยี ผมว่าผมไม่เป็นสองรองใคร

“ดีครับ! งั้นไปลองดูคลิปของ CTO ของบริษัทเราดูนะ” [ปล่อยกลับไป search เอา ซึ่งมันคือ คลิปนี้ครับ >> คลิก] ซึ่งเมื่อได้มีโอกาสกลับมาสัมภาษณ์รอบ 2 และผมได้ถามกลับไปอีกครั้งว่าเรื่องคลิปเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ให้ไปดูมาตรงกับความถนัดของตัวเองหรือไม่? คำตอบพร้อมเสียงหัวเราะของผู้สมัครรายนี้ก็ดังออกมาพร้อมกับพูดว่า “ไม่ใกล้เคียงเลยครับพี่ ถ้าเป็นเรื่องภาษาเขียนโค้ดอะไรพวกนี้ ผมไม่รู้เรื่อง ผมถนัดแต่พวก Hardware แนวนี้มากกว่า”

คำถามที่สำคัญคงไม่พ้น “อะไรที่ทำให้คุณอยากมาทำงานที่ ฟินโนมีนา?”

สิ่งที่ผู้สมัครรายนี้ให้เหตุผลก็คือ เรื่องของตำแหน่งงานที่ประกาศรับ เพราะตนเองสนใจงานในสายอีเว้นท์ และอยากทำงานทางด้านอีเว้นท์โดยเฉพาะ นอกจากนั้นตัวเขาคิดว่าคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ผมประกาศรับไป ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางกราฟฟิคดีไซน์ ทักษะการถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ ผู้สมัครรายนี้ก็พอจะมีผลงานอยู่บ้าง เรียกได้ว่าพร้อมโชว์ให้ดูเมื่อกรรมการสัมภาษณ์ร้องขอในตอนนั้น

ประกอบกับการที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สมัครนับสิบรายก่อนหน้านี้ ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้ผมเห็นถึงความโดดเด่นของผู้สมัครรายนี้ [จริง ๆ เราก็มีขั้นตอนและกระบวนการของการสัมภาษณ์ที่มีกรรมการสัมภาษณ์มาช่วยคัดเลือก และผู้สมัครรายนี้ก็สามารถสอบผ่านได้เป็นอย่างดี ทั้งทักษะ ประสบการณ์ และทัศนคติ] สุดท้าย ผู้สมัครคนนี้ก็ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงาน และนี่ คือข้อสรุปในมุมขององค์กรหรือหัวหน้างาน ว่าทำไมถึงรับผู้สมัครรายนี้เข้าทำงาน

  1. ความกระตือรือร้นที่ต้องการทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ ไม่ใช่แค่เพียงสมัครทิ้งไว้เล่น ๆ จากการสัมภาษณ์คนมาหลายคน มีคนจำนวนไม่น้อยที่หว่านใบสมัครเล่น ๆ เพียงเพื่อหวังความฟลุคที่อาจจะได้รับโอกาสเปลี่ยนงานใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ในทางตรงกันข้ามบริษัทหรือหัวหน้างานเขาไม่ได้เปิดรับสมัครงานเล่น ๆ หรือเผื่อฟลุค แต่กำลังมองหาคนที่กระตือรือร้นอยากร่วมงานกับเราอย่างจริงจัง ดังนั้น ความกระตือรือร้นแบบเสมอต้นเสมอปลาย และความจริงจังในสิ่งที่คุณกำลังจะสมัครเข้ามาจึงควรมีมันไว้
  2. ไขว่คว้าหาความรู้เกี่ยวกับข้อมูลของบริษัท และพยายามศึกษาเพิ่มเติมในสิ่งที่ได้แนะนำไป — เพราะเมื่อคุณได้เริ่มงาน บางที่อาจจะมีเวลาปฐมนิเทศให้ความรู้คุณ หรือพยายามปรับคุณให้เข้ากับองค์กร แต่ที่นี่คือการทำงาน ไม่ใช่ชีวิตนักศึกษาอีกต่อไป คุณจึงต้องมีความพร้อมระดับหนึ่ง ที่จะรู้ว่าคุณมาทำงานกับบริษัทที่ทำธุรกิจอะไร พยายามเรียนรู้ในสิ่งที่หัวหน้างานได้แนะนำ หรือเพื่อนร่วมงานได้แบ่งปัน [สิ่งนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะในองค์กรอย่าง “ฟินโนมีนา” เรามักจะมี knowledge sharing บ่อย ๆ ครั้ง ซึ่งไม่จำกัดว่าคุณจะอยู่ทีมไหน หรือทำงานด้านไหน หากคุณสนใจก็สามารถไปร่วมแบ่งปันความรู้ได้ และมันจะทำให้คุณมีความรู้มากยิ่งขึ้น มีคำกล่าวของพนักงานที่นี่บางคนกล่าวว่า “แค่ได้มาทำงานที่นี่ และได้รับความรู้ใหม่ ๆ ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว”
  3. ทักษะสมัยเรียน และกิจกรรมที่คุณทำจะช่วยสะท้อนและเป็นพอร์ตโฟลิโอที่ดีว่าคุณเหมาะกับงานที่กำลังสัมภาษณ์อยู่หรือไม่ — แน่นอนว่าเรื่องสาขาที่คุณเรียนมาย่อมมีความสัมพันธ์กับเนื้องานที่คุณต้องทำไม่มากก็น้อย แต่ในยุคสมัยนี้ ยุคสมัยที่มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายตำแหน่งงานยังไม่สามารถหาสาขาที่มีอยู่ในหลักสูตรปัจจุบันแล้วรับเข้ามาทำงานได้อย่างตรง ๆ เช่น Data scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) ก็ต้องประยุกต์เอาบ้าง บางคนก็อาจจะมาจากวิศวกรรมศาสตร์ (คอมพิวเตอร์) บางคนก็อาจจะมาจากสถิติประยุกต์ ดังนั้น สาขาที่คุณเรียนจึงไม่ใช่สิ่งที่กำหนดทุกอย่างหลังเรียนจบ แต่ทุกสิ่งที่คุณทำระหว่างเรียนจะมีส่วนช่วยกำหนดสิ่งที่คุณจะทำหลังเรียนจบต่างหาก อย่างกรณีนี้ กิจกรรมที่ผู้สมัครคนนี้ได้ทำก่อนเรียนจบ มันช่วยให้เขาเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในชีวิตจริงหลาย ๆ อย่างที่ผมต้องการใน ตำแหน่ง Event & Activity แค่เปลี่ยนหัวเรื่องที่คุณจัด จากจัดแข่งขัน e-sport มาเป็นงานสัมมนาการลงทุน ก็สามารถที่จะเรียนรู้ได้ไม่ยาก
  4. ความจริงใจ ตรงไปตรงมา — ข้อนี้ผมว่าสำคัญมาก รู้ก็บอกว่ารู้ ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ และพยายามจะไปเรียนรู้ให้รู้ และสิ่งนี้ผมน่าจะเขียนบรรยายได้ยาก แต่เมื่ออยู่ในชีวิตจริงคุณจะสัมผัสมันได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้สมัคร เมื่อคุณจริงใจอยากทำงานนั้นอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าผู้สัมภาษณ์หลาย ๆ คนจะเห็นสิ่งนั้นจากแววตาของคุณได้ และมันทำให้ผู้สัมภาษณ์มั่นใจได้ระดับหนึ่งเลยว่า สิ่งที่คุณพูดมาในวันที่สัมภาษณ์ สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นจริงเมื่อรับคุณเข้ามาทำงาน
  5. บุคลิกภาพ การต่อยอดในงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง — ในสายงานของคนทำอีเว้นท์นั้น ถ้าเป็น Event Organizer ชนิดที่เรียกว่าใส่ชุดดำ ยืนเป็น backstage รับจัดงานให้บริษัทต่าง ๆ อีกที ผมว่าในส่วนของบุคลิกภาพอาจจะไม่ใช่แต้มต่อสักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่จัดอีเว้นท์โดยเป็นพนักงานขององค์กรเอง แล้วจัดอีเว้นท์ต่าง ๆ ให้องค์กรเป็นประจำ ผมว่าบุคลิกภาพคือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ยิ่งถ้าใครบุคลิกภาพดีกว่าย่อมมีโอกาสต่อยอดในงานด้านอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น คุณอาจจะไม่ต้องยืนอยู่แค่เบื้องหลัง หรือคนคุมงานทั้งหมด แต่คุณยังสามารถขยับมาอยู่เบื้องหน้า เป็นทั้งพิธีกร หรือพรีเซ็นเตอร์ในอีเว้นท์ต่าง ๆ ได้ด้วยซ้ำ หรือในบางสายงานคุณอาจจะเป็นสุดยอดนักขายมืออาชีพที่สามารถทำได้ทั้งการจัดงาน และช่วยทีมการตลาดขายของไปในตัว นี่มัน Superman ชัดๆ!

ข้อคิดที่ได้สำหรับเด็กจบใหม่ ที่ต้องการหางานทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทฟินเทคในปี 2019 นี้

  1. โอกาสมีพร้อมเสมอ ขอแค่ตัวคุณเองต้องเตรียมตัวให้พร้อม หลายคนที่ได้โอกาส มักจะเป็นคนที่ทำงานหนักกว่าคนอื่นเสมอ และเพราะโอกาสไม่ใช่สลากกินแบ่งที่รอคนโชคดีได้รับมันไป แต่หลายคนที่ได้โอกาสก็เพราะเขาเตรียมตัวที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้
  2. อย่างที่ผมกล่าวไว้ว่า “สิ่งที่คุณเรียนไม่ใช่สิ่งที่กำหนดทุกอย่างหลังเรียนจบ แต่ทุกสิ่งที่คุณทำระหว่างเรียนจะมีส่วนช่วยกำหนดสิ่งที่คุณจะทำหลังเรียนจบต่างหาก” ดังนั้น จงค้นหาตัวเอง ทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มทักษะต่าง ๆ ที่สามารถหาเรียนเองได้ สมัยนี้หลักสูตรฟรี ๆ มีเยอะแยะมากมาก อย่ารอแค่หลักสูตรที่มีสอนในตำรา เพราะพรุ่งนี้มันอาจจะไม่เพียงพอสำหรับโลกของคุณอีกต่อไป ใครจะไปรู้กิจกรรมสมัยเรียน อาจจะกลายเป็นทักษะทางสายอาชีพในอนาคตของคุณก็เป็นได้
  3. งานบางอย่างในปัจจุบันไม่สามารถหาสาขาที่มีอยู่ในหลักสูตรการศึกษาปัจจุบันได้แบบเป๊ะๆ บางครั้งผู้ประกอบการก็ต้องควานหาในสาขาที่ใกล้เคียง การปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ทุกคนจึงมีโอกาสที่เท่ากัน แต่ทุกคนอาจจะมีความพยายามที่ไม่เท่ากัน ผลลัพธ์จึงขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถที่จะปรับตัวและนำความรู้ที่มีต่อยอดเข้ากับโลกเทคโนโลยีในปี 2019 ได้ก่อนกัน
  4. ทัศนคติในการสัมภาษณ์งาน ทั้งก่อนสัมภาษณ์ ขณะสัมภาษณ์ และหลังสัมภาษณ์งาน และเมื่อได้มาเริ่มงานจริง ๆ ไม่สามารถบ่งบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคุณจะเหมาะกับงานหรือไม่ หรือสนุกกับงานหรือไม่ แต่ที่บอกได้แน่ ๆ คือ คุณจะเหมาะกับองค์กรหรือไม่ หลายครั้งคนที่เก่ง คนที่ดี แต่ถ้าไม่เหมาะกับองค์กร และไม่น่าจะเข้ากับคนอื่น ๆ ในองค์กรได้ ก็อาจจะไม่ได้รับโอกาสนั้น อย่างที่เขาว่ากันว่า “คนดี ๆ มักจะดึงดูดคนดี ๆ เข้าหากัน” — ที่ฟินโนมีนาก็เช่นกัน :)

สุดท้ายนี้ ผมว่าเรื่องราวของพนักงานฟินโนมีนาท่านนี้ดู ๆ ไป ผมก็คิดว่ามีความคล้าย ๆ กับพล็อตหนังฝรั่งอยู่ 1 เรื่องที่ตัวเอกได้ไปฝึกงานอยู่ใน Google บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ที่คนรู้จักกันทั้งโลก โดยที่ตัวเอกเข้าไปแบบไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีเลย แต่ในช่วงท้ายของหนัง ตัวเอกก็ได้พิสูจน์ตัวเองในการนำจุดแข็งที่ตัวเองมี นั่นคือ “ทักษะการขาย” ที่สาย Geek ทั้งหลายไม่น่าจะเชี่ยวชาญเท่าไหร่ มาเสริมเป็นจุดแข็งให้กับตัวเอง และนั่นก็คือ จุดที่ผู้บริหาร Google เขามองเห็นและให้โอกาสตัวเอกของเรื่องได้เข้ามาฝึกงานและผ่านการเป็นพนักงานของ Google ในท้ายที่สุด

นั่นอาจจะรู้สึกว่าเรื่องราวคือที่สุดแล้ว แต่ผมว่าที่มันทำให้ผู้รู้สึกอินไปกว่านั้นก็เพราะว่า ผู้บริหารของ Google ในหนังเรื่องนี้ ได้บอกกับตัวเอกในท้ายเรื่องว่าเหตุผลที่เขารับพนักงานคนนี้เข้ามาฝึกงานในช่วงแรก และเชื่อในการให้โอกาส ก็เพราะว่าตัวเขาเองก็เคยเป็นคนที่ได้รับโอกาสมาก่อน และเขาเองก็พัฒนาจนมาอยู่ในส่วนของฝ่ายบริหารของ Google ได้อย่างทุกวันนี้

ผมจึงอยากสร้างแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นจากจุดเล็ก ๆ อย่างเช่นการรับพนักงานหนึ่งคนเข้ามาทำงาน แล้วให้เรื่องราวนี้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างโอกาสให้กับผู้คนทั้งพนักงาน พันธมิตร สังคมและนักลงทุนทุก ๆ คนต่อไป

--

--

Sharing real experience from Fintech world [the world of Finance + Technology] — Business Development Director at FINNOMENA